ศพช.อุบลฯ ผุดไอเดียเจ๋ง! ต่อยอด ‘โคก หนอง นา โมเดล’ แปรรูป ‘หญ้าแฝก’ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้งาม
ใบหญ้าแฝกที่นำมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ จะต้องใช้ใบหญ้าแฝกที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของกรรมวิธีการผลิต ดังนั้น การเตรียมหญ้าแฝกเพื่อนำมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการที่จะใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกทั้งทางด้านการอนุรักษ์บำรุงดิน และเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ด้วยขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ดังนี้
การเตรียมใบหญ้าแฝก
การตัดหญ้าแฝก หญ้าแฝกแต่ละพันธุ์ การเจริญเติบโตไม่เท่ากัน แต่พอประมาณอายุที่จะนำมาใช้งานได้ คือ แฝกที่ปลูกใหม่หากได้มีการบำรุงดีอายุ ประมาณ ๕ – ๖ เดือนก็ตัดมาใช้งานได้ หลังจากนั้นก็จะตัดได้ทุกเดือน แฝกอ่อน จะใช้งานได้ดี หากแฝกเริ่มมีดอกจะแข็งหักง่ายไม่เหมาะสมสำหรับทำผลิตภัณฑ์ เมื่อเราเลือกแฝกในแปลงได้เหมาะสมสำหรับการใช้งานแล้ว ก็ลงมือจากหญ้าแฝก การตัดต้องตัดทั้งร่องคือตัดหมดเลย ตัดเป็นบางส่วนไม่ได้เพราะเป็นหญ้าแฝกจะ แตกใบใหม่ไม่พร้อมกัน ทำให้ใบอ่อนแก่ไม่เท่ากัน วิธีตัดใช้เคียวเกี่ยวเหมือนเกี่ยว ข้าวจะสะดวก เมื่อตัดได้ให้วางให้เรียบร้อย ระวังไม่ให้หญ้าหักตอนสดเมื่อแห้ง เส้นก็จะขาด
การตากหญ้าแฝก วันแรกควรนำแฝกมากระจายเรียงให้เป็นแนว พอ แฝกเริ่มเหี่ยว ก็คัดส่วนที่ใช้การไม่ได้ออกไป เอาส่วนที่ใช้ได้มามัดปลายเป็นกำๆ เพื่อให้สะดวกในการขนย้ายและเก็บ เมื่อคัดเสร็จก็นำมาตากโดย แผ่ด้านโคนของ แฝกออกให้บาง เป็นรูปพัด และวางเรียงกันให้เป็นระเบียบจะดูเรียบไม่ยุ่งเหยิง ทำให้แฝกแห้งเร็ว ตากประมาณ ๓ – ๕ วัน หากฝนไม่ตกก็ไม่ต้องเก็บระหว่างตาก เมื่อแห้งแล้วก็นำไปใช้งานได้เลย
การเตรียมเส้นหญ้าแฝกสำหรับทำผลิตภัณฑ์
นำหญ้าแฝกที่แห้งแล้ว มาเตรียมเส้นให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่จะทำโดยการแยกเส้นสั้นและยาว ความ อ่อนและแข็งออกตามความเหมาะสมที่จะใช้แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมี หลายวิธี เช่น
๑. ใช้ใบหญ้าแฝกตากแห้งมาทำผลิตภัณฑ์หัตกรรมโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอื่น แต่ผู้สานควรจะต้องระวัง และดูลักษณะทิศทาง ของหนามเล็ก ๆ ที่ปลายใบ ตัดปลายใบออกประมาณ ๒๐ ซ.ม. เพราะปลายใบจะคม และรูดใบไปตามทิศทางของหนาม วิธีนี้เหมาะสมกับการทำผลิตภัณฑ์สาน หยาบๆ ไม่ต้องมีการประณีต
๒. การรีด เพื่อให้เรียบแยกเส้นสำหรับสานลาย
๓. การเรียด ให้นำใบหญ้าแฝกที่ตากแห้งแล้วมาเรียดเป็นเส้นเล็กๆ ขนาดเท่ากันเพื่อสานเป็นผลิตภัณฑ์ วิธีนี้เหมาะกับการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ความละเอียด ประณีต
๔. ใช้วิธีนำมาต้ม หากต้องการให้เส้นหญ้าแฝกเหนียวขึ้น ก็ให้นำใบหญ้าแฝกไปต้มในน้ำสะอาดผสมเกลือแกง โดยใช้อัตราส่วน น้ำ ๑๐ ลิตรต่อเกลือ แกง ๑ ช้อนโต๊ะ ต้มให้เดือดประมาณ ๑๐ – ๑๕ นาที แล้วนำมาล้างให้สะอาด ๑ ครั้ง แล้วตากให้แห้ง จะได้เส้นหญ้าแฝกที่เหนียวและขาวขึ้น ทำให้ไม่ค่อยมีเชื้อรา แต่ความมันเงาของเส้นหญ้าจะลดน้อยลง
การที่จะเลือกใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ว่าต้องการ ความประณีตมากน้อยแค่ไหน และต้องคำนึงถึงเวลาที่จะใช้ในการผลิตด้วย ควรคัดเลือกเฉพาะใบหญ้าแฝกอ่อน โดยก่อนนำมาสานให้พรมน้ำเพื่อให้ใบไม่แข็ง กระด้างในการสาน หรือจะใช้ผ้าชุบน้ำหมดมาดๆ รูดขนที่ใบก่อนสานก็ได้
การย้อมสีหญ้าแฝก
ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีสีสังเคราะห์เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ได้เริ่มมีความนิยม ที่จะกลับไปใช้สีธรรมชาติกันมากขึ้น แม้ว่าสีสังเคราะห์จะมีความสดสวยและ คงทน แต่สีก็ฉูดฉาดมากเกิน สู้สีธรรมชาติที่เย็นตากว่าไม่ได้นอกจากนี้ สี ธรรมชาติยังมีประวัติความเป็นมาของสีแต่ละชนิดซึ่ง เป็นสิ่งที่สามารถหาได้ใน ชุมชนแต่ละท้องถิ่นอีกทั้งคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของสีธรรมชาติที่ละลายน้ำได้และ จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งจะช่วยลดภาวะแวดล้อมเป็นพิษ ต่างจากสี สังเคราะห์ที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองมีสารตกค้าง จึงควรส่งเสริมการศึกษา การใช้สีธรรมชาติให้มีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพ
วิธีการย้อมสามารถ ทำได้ ๒ วิธีดังนี้
(๑) วิธีการย้อมสีธรรมชาติ
สีธรรมชาติจะดูดติดสีได้ผลดีเมื่อน้ำย้อมสามารถแทรกซึมเข้าไปใน เส้นใยได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องคัดเลือกและขจัด สิ่งเจือปน สิ่งสกปรกที่ติดมากับเส้นใยออกเสียก่อน ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า การ เตรียมวัสดุก่อนการย้อม วิธีการย้อมโดยการนำวัสดุธรรมชาติที่ให้สีมาล้างทำความสะอาด บางชนิดอาจจะต้องบดหรือฝานบางเป็นแผ่นบางหรือใช้สับเป็นชิ้นพอประมาณ แล้วนำไปแช่น้ำ อาจเป็นชั่วโมง หรือเป็นวันแล้วแต่ชนิดของวัสดุให้สีธรรมชาติที่ นำมาย้อม ต้มให้เดือดอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงแล้วแต่ชนิด จากนั้นนำใบหญ้าแฝก หรือเส้นเกลียวหญ้าแฝกลงไปต้มในน้ำสีเดือดอ่อนๆ พลิกดูความเข้มของสีตาม ต้องการจากนั้นนำขึ้น
(๒) วิธีการย้อมสีเคมี
๑. คัดเลือกใบหญ้าแฝกที่มีใบสวยนำไปจุ่มน้ำแล้ววางพักไว้ให้สะเด็ดน้ำพอหมาดๆ
๒. ต้มน้ำให้เดือดใส่สีเคมี (สำหรับย้อมผ้า) สีที่ต้องการลงไป ใส่เกลือประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ ๑ ปี๊บ เพื่อให้ได้สีที่สดใสแวววาว
๓. นำใบหญ้าแฝกที่แห้งพอหมาดๆใส่ลงไปต้มในน้ำสีที่กำลัง เดือดประมาณ ครึ่งชั่วโมง
๔. นำใบหญ้าแฝกขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งน้ำที่ล้างกลายเป็นน้ำใส
๕. นำไปผึ่งลมในที่ร่มให้แห้ง เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงนำมาสาน เป็นลวดลายตามความต้องการ
กรรมวิธีการผลิต
การผลิตการแปรรูปใบหญ้าแฝกนั้นสามารถทำได้หลายวิธีผู้เขียนจะ ขอกล่าวถึงวิธีการและเทคนิคการแปรรูปใบหญ้าแฝกจำแนกได้ ๕ วิธีดังนี้
(1) การสาน
การสาน คือ ใช้หลักการโดยนำหญ้าแฝกมาไขว้สลับกันไปมา อาจจะใช้หุ่นหรือไม่ใช้หุ่น ก็ได้ การสานของไทยนั้นมีรูปแบบต่างกันไปมากมาย ทั้งที่แตกต่างด้วยลักษณะของแบบลายและวัสดุที่ใช้ในการสาน ในด้านลวดลายที่ สานนั้น ส่วนมากจะสานลายใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
(2) การถัก
การถักจะใช้วัสดุที่เป็นเส้นอ่อนและมีความยาวพอสมควร ใช้ถักยึด โครงสร้างภายนอกให้ติดกับผนังของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต เช่นการถักขอบภาชนะ การ ถักหูภาชนะ หรือการถักโครงต่างๆ ของภาชนะ เป็นต้น การถักนี้บางครั้งจะ เรียกว่าการผูกก็ได้ ลักษณะถักหรือการผูกภาชนะโดยทั่วไป จะมีระเบียบที่เป็น ลักษณะเฉพาะของการถักแต่ละแบบ เช่นเดียวกับแบบของลานสาน เช่น ลายถัก หัวแมลงวัน ลายถักปลาช่อน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการถักจะเป็นการเสริมเพื่อให้ เครื่องจักรสานมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็ตาม แต่การถักก็เป็นขบวนการที่จำเป็น อย่างขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะหรือเครื่องใช้อื่น ๆ ถ้าสังเกตดูแล้วจะเห็นว่ามี ขบวนการถักเข้าไปเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ เช่น ขอบ ขา ปาก ก้นของภาชนะ
(3) การมัด
วิธีการมัดมีขั้นตอนดังนี้ ๑.นำปลายเส้นที่อยู่ด้านบนสอดผ่านใต้เส้นแกนกลางไปขัดทับ เส้นล่าง ๒.นำปลายเส้นที่อยู่ด้านล่างสอดทับเส้นแกนกลางและไปสอด ขัดเส้นบน แล้วดึงปลายทั้งสองเส้นมัดแกนกลางให้แน่น ๓.เมื่อผูกรัดแล้วจะต้องดึงให้กระชับแน่นตลอดความยาวที่ใช้ และควรรูดให้ชิดกันอย่างสม่ำเสมอ จะได้ลายผูกที่สวยงามลายกระชับแน่น แข็งแรงดีขึ้น
(4) การพัน
วิธีการพัน หญ้าแฝกที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเส้นอ่อนและมีความ เหนียวพอสมควร ถ้าได้รวมกันเป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการพันให้ถูกต้อง ก็อาจ ขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ วิธีการใหญ่ๆ ในการรวมผูกพันกันขึ้นนั้นมี ๒ วิธีดังนี้
๑. พันข้าม คือ เริ่มพันที่หัวเส้น เมื่อพันได้มากแล้วก็พันรวมหัก หมวด พันให้ติดกันเป็นก้นหอย ใช้เข็มรูโตหรือลวดนำ
๒. พันไขว้ เริ่มพันหัวเส้น หักหัวงอขมวดพันติดกันกับก้นหอย ด้วยวิธีพันไขว้
(5) การฟั่นเกลียว
การฟั่นเกลียวคือการนำหญ้ามาฟั่นเกลียว เพื่อใช้ถักสิ่งของต่างๆ เช่น เก้าอี้ หรือการฟั่นเกลียวด้วยมือใช้งานถัก ทอ เช่น ทำแผ่นวางของร้อนหรือวางจาน ฟั่นเกลียวติดกระดุม ฟั่นเกลียวติดหูกระเป๋า